2718 จำนวนผู้เข้าชม |
กิจการยอดนิยมของคนยุคนี้คงหนีไม่พ้น “ร้านกาแฟ” ด้วยกลิ่นหอม ๆ ร้านเก๋ ๆ บรรยากาศผู้คนนั่งดื่ม มันเป็น “เสน่ห์” ที่ดึงดูดใครหลายคนให้เข้าร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นนักดื่ม ผู้ใช้บริการ ไปจนถึงความอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟเสียเลย!
อย่างไรก็ตามการเปิดร้านกาแฟนั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่การที่จะทำให้ร้านของเราไปได้ตลอดรอดฝั่งในภาวะที่มีการแข่งขันสูงอย่างในยุคปัจจุบันนั้นสำคัญกว่ามาก! มาดูกันดีกว่าครับว่า “ปัจจัยกำหนดความสำเร็จ” สำหรับร้านกาแฟควรจะมีอะไรบ้างปัจจัยแรก “รสชาติกาแฟ”
ปัจจัยเรื่องรสชาติกาแฟ ถือเป็นตัวที่จะบอกว่าร้านของคุณจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากบรรยากาศร้านดี แต่กาแฟรสชาติไม่ดี นักดื่มก็จะหันไปเข้าร้านอื่นแทน รสชาติกาแฟที่ดีจะต้อง match กับขนมในร้านด้วยครับ หลายคนไม่ได้คิดถึงข้อนี้ทำให้กาแฟที่ชงเสียรสชาติไปกับขนมในร้านที่ไม่เข้ากันเลย
ขนมในร้านที่ผมอยากจะแนะนำก็พวก วาฟเฟิล ชีสเค้ก ขนมปังประเภทต่าง ๆ หรือแม้แต่ “แฮมเบอร์เกอร์” ก็เข้ากันดีกับกาแฟ แถมยังไม่มีกลิ่นรบกวนมากจนเกินไปทำให้ตัด “กลิ่นกาแฟ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ของร้านกาแฟนั่นเองครับปัจจัยที่สอง “ทำเลที่ตั้ง และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในร้าน”
ทำเลที่ตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง หากร้านของเราตั้งอยู่ในทำเลที่มีคนเดินมาก และมีความ “สะดวก” ที่จะทำให้ผู้คนแวะพัก ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “คู่แข่ง” การเข้าไปถึงพื้นที่ที่ยังไม่มีคู่แข่ง และซื้อใจลูกค้าได้ก่อนจะได้เปรียบคนที่มาตั้งทีหลัง บางครั้งเราเปิดร้านอยู่ก่อนแล้ว มีคู่แข่งมาเปิดใกล้ ๆ หากร้านเรายังมีลูกค้าประจำ โอกาสรอดก็มีมาก แต่ถ้าเราไม่มีลูกค้าประจำก็ต้องดูว่าร้านที่มาเปิดใหม่จับลูกค้ากลุ่มไหน ถ้าคนละกลุ่มกับร้านเราก็พอจะวางใจได้ครับปัจจัยที่สาม “วัตถุดิบ และการบริการ”
วัตถุดิบในการชงกาแฟ และการให้บริการลูกค้าสำคัญมาก เริ่มตั้งแต่แก้วกาแฟ เมล็ดกาแฟ ผู้ให้บริการ ไปยันการจัดที่นั่งในร้านเลยล่ะครับแก้วกาแฟ หลายคนอาจไม่ได้คิดถึง แต่แก้วกาแฟที่ชวนให้ดื่มเหมือนกับเป็น Packaging ให้กับกาแฟในแก้วนั้น ๆ เวลาลูกค้าซื้อกาแฟแบบ “กลับบ้าน” ก็จะต้องนำแก้วกาแฟกลับไปด้วย หากมันดูดีมีชาติสกุล ก็ทำให้ลูกค้ารู้สึกดี พลอยทำให้รู้สึกว่ากาแฟนี้รสชาติดีได้เหมือนกัน
เมล็ดกาแฟ การคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของ “กลิ่น” ถ้ากลิ่นดีนอกจากจะเป็นการชวนให้คนเข้าร้าน ยังทำให้รู้สึกดี ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยเช่นกัน
การบริการของพนักงาน ตั้งแต่พนักงานชงกาแฟ ไปจนถึงพนักงานเสิร์ฟ ควรยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง บางคนซื้อกาแฟร้านนี้เพราะความ “คุ้นเคย” กับผู้ให้บริการทำให้ติดใจมาซื้อซ้ำบ่อย ๆ ก็มีครับ
ปัจจัยสุดท้าย “เรื่องเงิน”
การวางแผนทางการเงินสำหรับเจ้าของกิจการ ต้องรอบคอบและมีสภาพคล่องสูง ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟเล็ก ๆ ผมขอนำเสนอแนวคิดการจัดการเงินสี่ก้อนสำหรับคนที่อยากจะทำธุรกิจร้านกาแฟไม่ให้เจ๊งดังต่อไปนี้
ก้อนแรก “ใช้สำหรับหมุนเป็นสภาพคล่อง”
ก้อนนี้ควรจะเป็นเงินสด เอาไว้หมุนเวียนรายวัน ซื้อเมล็ดกาแฟ ซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ รายเดือนก็จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน เป็นต้น ควรมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อรายจ่ายต่อเดือน หรือต่อปีขึ้นไปครับ
ก้อนที่สอง “เก็บเป็นทุนสำรอง”
ก้อนนี้สำหรับเก็บสะสมไว้ยามฉุกเฉิน เผื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยควรแบ่งกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการมาเก็บไว้ จะฝากไว้กับธนาคาร หรือนำไปลงทุนระยะยาวก็ได้ครับ
ก้อนที่สาม “เงินก้อนสำหรับลงทุนขยายกิจการ”
กิจการที่ดีไม่ควรหยุดนิ่ง หากมีเงินเหลือควรแบ่งมาลงทุนเพื่อขยายกิจการเพิ่มเติม หรือเก็บไว้ปรับปรุงร้านให้ดูดีเสมอ เพราะหากมีคู่แข่งเข้ามา ร้านเรามีลูกค้าประจำแล้ว แถมยังดูดี ก็จะช่วยรักษาลูกค้าได้ในระยะยาวครับ
แล้วก็อย่าลืมหาความรู้เพิ่มเรื่องเกณฑ์การตั้งราคาด้วยก็ดีครับ เพราะถ้าราคาไม่สมเหตุสมผล คนก็ไม่ซื้อ หรือถ้าถูกไป เราก็จะพลอยขาดทุนไปอีก ลองดูเทคนิคเด็ด ๆ ในการตั้งราคาสินค้ากันครับ เผื่อจะช่วยเป็นไอเดียให้ใครที่กำลังจะเริ่มร้านกาแฟของตัวเอง
ทั้งหมดเป็นเพียงเกร็ดเล็ก ๆ สำหรับคนคิดจะเปิดร้านกาแฟให้อยู่รอด และไม่เจ๊ง ... ของจริงจะมีอะไรมากมายกว่านี้อย่างแน่นอน แต่คนที่ไม่ยอมแพ้ย่อมพบกับความสำเร็จ ลงมือทำในสิ่งที่รัก ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมครับ